วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กฎหมาย

กฎหมาย คือ บรรดาคำสั่งหรือข้อบังคับของรัฐหรือประเทศที่ใช้บังคับความประพฤติทั้งหลายของบุคคล อันเกี่ยวด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องมีความผิดและถูกลงโทษ ในทางอาญาอาจจะมีโทษปรับเป็นเงินหรือโทษจำคุก ในทางแพ่งอาจจะถูกบังคับให้ชำระหนี้หรือชดใช้ค่าเสียหาย

ความหมายของกฎหมายตามแนวความคิดเดิม
1. กฎหมาย คือ คำบัญชาของผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ

2. กฎหมาย คือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามก็จะต้องถูก
ลงโทษ

ความหมายของกฎหมายตามแนวความคิดใหม่
1. กฎหมาย คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งมีลักษณะเป็นสากลและพบเห็นได้ในทุกสังคม

2. กฎหมาย คือ ระบบที่มีอำนาจโดยชอบธรรมซึ่งมีการรับรองไว้แล้ว

3. กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์สูงสุดของสังคมและเป็นตัวควบคุมกฎเกณฑ์อื่น ๆ

4. กฎหมาย คือ ระบบกฎเกณฑ์ที่มีการจัดทำ การตีความ และการใช้บังคับเป็นกิจจะลักษณะ ตลอดจนมี

วัตถุประสงค์ของโครงสร้างหลักเกณฑ์ เจ้าหน้าที่และกระบวนการอันคำนึงถึงความสงบ

เรียบร้อย และความคิดเรื่องความยุติธรรม

ลักษณะสำคัญของกฎหมาย
1. กฎหมายจะต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์

หมายความว่า ผู้บัญญัติกฎหมายต้องมีอำนาจในรัฐ จะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล เช่น พระมหากษัตริย์

หัวหน้าคณะปฏิวัติหรือรัฐสภาที่มีอำนาจเด็ดขาดที่จะออกกฎหมายมาบังคับได้ และรัฐหรือประเทศนั้น ๆ จะต้องเป็นเอกราช มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ไม่เป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของประเทศอื่นใด

2. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ทั่วไป

หมายความว่า กฎหมายจะต้องใช้บังคับได้ทุกสถานที่และแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาค

3. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป

หมายความว่า เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายเรื่องใดฉบับใดแล้ว กฎหมายนั้นก็จะใช้ได้ตลอดไป จะ
เก่าหรือล้าสมัยอย่างไรก็ใช้บังคับได้อยู่ จนกว่าจะได้มีการประกาศยกเลิก เช่น พระราชบัญญัติตามช้างรัตนโกสินทรศก 127 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่


4. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม

หมายความว่า กฎหมายทุกฉบับประชาชนต้องปฏิบัติตาม จะขัดกับผลประโยชน์ของตนอย่างไรหรือ
ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ เช่น กฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอากร ชายไทยอายุย่างเข้า 21 ปี ใน พ.ศ. ใดต้องตรวจเข้ารับราชการทหาร เป็นต้น บุคคลที่ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติจะปฏิเสธไม่ได้
5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ

หมายความว่า ผู้กระทำหรืองดเว้นกระทำตามที่กฎหมายกำหนดต้องถูกลงโทษ เช่น กฎหมายกำหนดผู้มี
รายได้ต้องเสียภาษี ผู้นั้นต้องรับโทษปรับหรือถูกยึดทรัพย์สินมาขายหรือชำระค่าภาษี เป็นต้น



ที่มาของกฎหมาย
1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามแบบพิธีและขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยตราขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศให้ประชาชนทราบ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น กฎหมายของไทยส่วนใหญ่ที่ศาลหรือผู้ใช้นำมาปรับแก่คดีคือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ

2. กฎหมายจารีตประเพณี คือ กฎหมายที่ไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาชนได้ประพฤติตามแบบอย่างกันมาเป็นเวลาช้านานโดยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง และรัฐใช้ข้อปฏิบัติเหล่านี้เสมือนกฎหมายอย่างหนึ่ง โดยมีศาลยุติธรรมรับรองกฎหมายจารีตประเพณี

3. หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไป ของกฎหมายที่ยึดหลักความเป็นธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยศาลยุติธรรมเป็นผู้รับรองหลักกฎหมายว่ามีฐานะเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ได้



ประเภทและลำดับชั้นของกฎหมาย
ประเภทของกฎหมาย กฎหมายมี 3 ประเภทคือ

1. กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ได้แก่ ราษฎรทั่วไปใน

ฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือกว่าราษฎร กฎหมายมหาชนได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

2. กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ในฐานะเท่าเทียมกัน

กฎหมายเอกชนได้แก่กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์

3. กฎหมายระหว่างประเทศ คือกฎหมายที่กำหนดตามความเกี่ยวพันระหว่างประเทศต่อประเทศ หรือรัฐ

ต่อรัฐแบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ

3.1 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

3.2 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

3.3 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา


ลำดับชั้นของกฎหมาย

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ

คือ กฎหมายสูงสุดในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งจะวางระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐ

หรืออำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตลอดจนการกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย

2. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เป็นกฎหมายหลักที่สำคัญ

ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติที่สำคัญที่รัฐสภาตราออกมาใช้บังคับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

3. ประมวลกฎหมาย

คือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้นโดยรวบรวมจัดเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่

เป็นเรื่องเดียวกันเอามารวบรวมเป็นหมวดหมู่ วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกันและมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร เป็นต้น

ประมวลกฎหมายมีฐานะเท่าเทียมกับพระราชบัญญัติ

4. พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การตราพระราชกำหนดให้

กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องเป็นกรณีเพื่อจะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเป็นพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินและเมื่อได้ประกาศใช้แล้วต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อสภาทันทีถ้ารัฐอนุมัติก็มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติก็ตกไป แต่ถ้าไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น การประกาศใช้พระราชกำหนดให้ประกาศในราช-กิจจานุเบกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ

5. พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ)

คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาจะออกได้

ต่อเมื่อพระราชบัญญัติซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาจึงเป็นเสมือนกฎหมายที่ไม่สามารถจะออกมาให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก พระราชกฤษฎีกานั้นก็ถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

6. กฎกระทรวง

คือ กฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอันเป็นกฎหมายแม่บทออกมาเพื่อดำเนินการให้

เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ กฎกระทรวงจึงเป็นกฎหมายบริวารที่กำหนดรายละเอียดของกฎหมายแม่บทอีกต่อหนึ่ง กฎกระทรวงจะออกมาขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทไม่ได้และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก กฎกระทรวงนั้นถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย คณะรัฐมนตรีเป็นอนุมัติกฎกระทรวง การประกาศใช้กฎกระทรวงให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

7. ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่ง

คือ กฎหมายปลีกย่อยประเภทที่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้แก่เรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบการปฏิบัติราชการ

ภายในและการที่จะนำกฎหมายปลีกย่อยเหล่านี้ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าในกฎหมายไม่ได้กำหนดเช่นนั้นก็อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจว่าการจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ซึ่งประกาศ ระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งเหล่านั้นก็เป็นกฎหมายได้เช่นกัน

8. กฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง

ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา ข้อบัญญัติจังหวัด เทศบัญญัติ และข้อบังคับ

สุขาภิบาล เป็นกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรปกครองตนเองอันเป็นการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มีอำนาจออกกฎหมายบังคับใช้เฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น



สรุปสาระสำคัญ

1. ลักษณะสำคัญของกฎหมาย มี 5 ประเภท

1. กฎหมายต้องมาจากรัฎฐาธิปัตย์

2. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ทั่วไป

3. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป

4. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม

5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ

2. ที่มาของกฎหมายไทย ได้แก่

1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร

2. กฎหมายจารีตประเพณี

3. กฎหมายทั่วไป

4. ประเภทของกฎหมาย ได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด

พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง และกฎหมายที่ออกโดยองค์การปกครองตนเอง


ระบบกฎหมาย
ระบบกฎหมายหลักๆในโลกนี้มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆด้วยกัน คือ
1.ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์(Civil Law) หรือก็คือระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร จุดกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรโรมัน ระบบกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็นการรวมรวมเอาจารีตประเภณีหรือกฎหมายต่างๆหรือ บัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเรียกว่าประมวลกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ชนชั้นที่ถูกปกครองในโรมันจึงมีการเรียกร้องให้ชนชั้นสูงทำการเขียนกฎหมาย เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชนชั้นที่ถูกปกครองได้รู้กฎหมายด้วย ซึ่งระบบกฎหมายนี้ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ ตัวอย่างก็เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ
2.ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์(Common Law) หรือก็คือระบบกฎหมายจารีตประเพณี จุดกำเนิดอยู่ที่อังกฤษ เนื่องจากแต่เดิมนั้นประเทศอังกฤษมีชนเผ่าอยู่มากมายหลายชนเผ่าด้วยกัน ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลหลวงหรือศาลพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้จากส่วนกลางไปพิจารณาคดีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดีมากมาย แต่ในภายหลังปัญหาก็ค่อยๆหมดไปเพราะเริ่มมีจารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็น สามัญขึ้นโดยศาลหลวงได้ใช้จารีตประเพณีเหล่านี้ในการพิจารณาคดี ในระบบคอมมอน ลอว์แต่เดิมจะไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อศาลใช้จารีตประเพณีในการพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ก็จะมีการบันทึกคำพิพากษานั้นเอาไว้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆไป หาข้อเท็จจริงในคดีต่อๆมาเหมือนกับคดีก่อน ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลก็คือกฎหมายนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ในประเทศอังกฤษก็ใช้ทั้งระบบกฎหมายแบบซีวิล ลอว์และคอมมอน ลอว์ ควบคู่กันไป
3.ระบบกฎหมายสังคมนิยม(Socialist Law) จุดกำเนิดของระบบกฎหมายน้อยู่ที่รัสเซีย แต่เดิมรัสเซียใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่ในภายหลังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ ก็ได้มีการนำหลักการและแนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน มาใช้โดยเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดระเบียบและกลไกในสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการกดขี่ข่มเหง ปราศจากชนชั้นวรรณะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน กฎหมายมีอยู่เพื่อความเท่าเทียม เมื่อใดที่สังคมเกิดความเท่าเทียมกันแล้วกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ส่วนลักษณะของกฎหมายสังคมนิยมนั้นจะมีการผสมผสานระหว่างกฎหมายลายลักษณ์ อักษรกับจารีตประเพณีเข้าด้วยกัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจารีตประเพณีนั้นเป็นตัวช่วยในการตีความและอุดช่องว่างของกฎหมายเมื่อ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญก็คือกฎหมายในระบบสังคมนิยมนั้นต้องแฝงหลักการหรือแนวคิดของคา ร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน ด้วยเสมอ
4.ระบบ กฎหมายศาสนาและประเภณีนิยม ลักษณะของกฎหมายในระบบนี้ โดยเนื้อหาของกฎหมายแล้วก็จะอาศัยศาสนาหรือประเภณีนิยมเป็นฐานในการบัญญัติ กฎหมายขึ้นมา เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามกำหนดหน้าที่ของชาวมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ใน ปัจจุบันประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม กฎหมายอิสลามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบ ครัวและมรดก แต่ส่วนกฎหมายในเรื่องอื่นๆก็จะใช้แนวทางของกฎหมายของทางโลกตะวันตก หรือใน 4 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในเรื่องครอบครัวและมรดกก็จะต้องนำกฎหมายศาสนาอิสลามมาใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นเฉพาะ 4 จังหวัดดังกล่าวเท่านั้น ส่วนในเรื่องอื่นๆทุกจังหวัดก็จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันรวมไปถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
ส่วน ประเภณีนิยมนั้น คือ สิ่งที่คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่นในประเทศจีนก็มีการนำประเภณีนิยมของนักปราชญ์อย่าง ขงจื้อ มาเป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมาย หรือประเภณีโบราณของลัทธิชินโตก็ใช้เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในประเทศ ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ฯลฯ

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การจัดระเบียบบริหารราชกาลแผ่นดิน

คำบรรยายกฎหมายปกครอง

ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง



ครั้งที่ 4. การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง

ระบบราชการไทยแบ่งองค์กรออกเป็น 3 ส่วน คือ ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน ใช้หลักการรวมอำนาจปกครองและหลักการกระจายอำนาจผสมกัน กล่าวคือ ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้หลักรวมอำนาจปกครอง สำหรับราชการส่วนท้องถิ่นใช้หลักการกระจายอำนาจปกครอง

4.1 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่ดิน พ.ศ. 2534 ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางว่า ได้แก่ สำนักรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวงซึ่งสังกัดสำนักรัฐมนตรีหรือกระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง

4.1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง บัญญัติให้มีสำนักรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวงและในวรรค 3 ของมาตราดังกล่าวก็ได้บัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย
ภายในสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ส่วนราชการที่ขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และไม่อยู่ภายใต้ กระทรวง ทบวง กรมใด ปัจจุบันมีส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ทั้งสิ้น 12 ส่วนราชการ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยส่วนราชการจำนวน 9 แห่ง คือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการอีก 3 แห่ง ซึ่งอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นกัน คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น อยู่ใต้บังคับบัญชาของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักรัฐมนตรีและให้มีรองนายกรัฐมนตรี หรือมีทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ

4.1.2 กระทรวง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 8 บัญญัติกระทรวงมีส่วนราชการภายใน ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และหากกระทรวงใดมีความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนราชการเพื่อจัดทำนโยบายและแผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง ก็สามารถขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งสำนักนโยบายและแผนเป็นส่วนราชการภายใน ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็ได้
ในกระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรับสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด อนุมัติ โดยจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้
ในกระทรวง มีปลัดกระทรวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง ในการปฏิบัติราชการของปลัดกระทรวง ให้มีรองปลัดกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการตามที่ปลัดกระทรวงมอบหมาย แต่ถ้าหากกระทรวงใดมีการจัดกลุ่มภารกิจ จะให้มีรองปลัดกระทรวง้พิ่มขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจก็ได้ หรือถ้าหากกระทรวงใดมีภารกิจเพิ่มขึ้นก็อาจมีรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้นได้ตามกระบวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
สำนักงานรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงและราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะ
ในปัจจุบัน เมื่อนับรวมสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีฐานะดป็นกระทรวงด้วยแล้ว ประเทศไทยมีกระทรวงรวมทั้งสิ้น 20 กระทรวงด้วยกันคือ
(๑) สำนักนายกรัฐมนตรี
(๒) กระทรวงกลาโหม
(๓) กระทรวงการคลัง
(๔) กระทรวงการต่างประเทศ
(๕) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(๖) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(๗) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(๘) กระทรวงคมนาคม
(๙) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๑๐) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(๑๑) กระทรวงพลังงาน
(๑๒) กระทรวงพาณิชย์
(๑๓) กระทรวงมหาดไทย
(๑๔) กระทรวงยุติธรรม
(๑๕) กระทรวงแรงงาน
(๑๖) กระทรวงวัฒนธรรม
(๑๗) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๑๘) กระทรวงศึกษาธิการ
(๑๙) กระทรวงสาธารณสุข
(๒๐) กระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ 4.1.1 ดังนั้น ในที่นี้จึงขอนำเสนออำนาจหน้าที่และการแบ่งส่วนราชการภายในของกระทรวงทั้ง 19 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

4.1.2.1 กระทรวงกลาโหม มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม ส่วนการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมนั้น มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 10 กำหนดให้กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมราชองครักษ์
(๔) กองทัพไทย
โดยในกองทัพไทยนั้น มาตรา 17 พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ประกอบด้วย ส่วนราชการดังต่อไปนี้คือ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก
กองทัพเรือ กองทัพอากาศ

4.1.2.2 กระทรวงการคลัง มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดินภาษีอากรการรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการคลังนั้น มาตรา 11แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงการคลัง มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมธนารักษ์
(๔) กรมบัญชีกลาง
(๕) กรมศุลกากร
(๖) กรมสรรพสามิต
(๗) กรมสรรพากร
(๘) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
(๙) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
(๑๐) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

4.1.2.3 กระทรวงการต่างประเทศ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ และราชการอื่นตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการต่างประเทศนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการกงสุล
(๔) กรมพิธีการทูต
(๕) กรมยุโรป
(๖) กรมวิเทศสหการ
(๗) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(๘) กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
(๙) กรมสารนิเทศ
(๑๐) กรมองค์การระหว่างประเทศ
(๑๑) กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
(๑๒) กรมอาเซียน
(๑๓) กรมเอเชียตะวันออก
(๑๔) กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

4.1.2.4 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ
(๔) สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว

4.1.2.5 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
(๔) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
(๕) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ

4.1.2.6 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม และราชการอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายใน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมชลประทาน
(๔) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
(๕) กรมประมง
(๖) กรมปศุสัตว์
(๗) กรมพัฒนาที่ดิน
(๘) กรมวิชาการเกษตร
(๙) กรมส่งเสริมการเกษตร
(๑๐) กรมส่งเสริมสหกรณ์
(๑๑) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(๑๒) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
(๑๓) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

4.1.2.7 กระทรวงคมนาคม มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง ธุรกิจการขนส่ง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงคมนาคม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงคมนาคมนั้น มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงคมนาคมมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
(๔) กรมการขนส่งทางบก
(๕) กรมการขนส่งทางอากาศ
(๖) กรมทางหลวง
(๗) กรมทางหลวงชนบท
(๘) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

4.1.2.8 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวน อนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมควบคุมมลพิษ
(๔) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
(๕) กรมทรัพยากรธรณี
(๖) กรมทรัพยากรน้ำ
(๗) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
(๘) กรมป่าไม้
(๙) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(๑๐) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
(๑๑) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.1.2.9 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การอุตุนิยมวิทยา และการสถิติ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมไปรษณีย์โทรเลข
(๔) กรมอุตุนิยมวิทยา
(๕) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

4.1.2.10 กระทรวงพลังงาน มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพลังงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา พัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพลังงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพลังงาน
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงพลังงานนั้น มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพลังงาน มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
(๔) กรมธุรกิจพลังงาน
(๕) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
(๖) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

4.1.2.11 กระทรวงพาณิชย์ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงพาณิชย์นั้น มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการค้าต่างประเทศ
(๔) กรมการค้าภายใน
(๕) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
(๖) กรมทรัพย์สินทางปัญญา
(๗) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(๘) กรมส่งเสริมการส่งออก

4.1.2.12 กระทรวงมหาดไทย มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงมหาดไทยนั้น มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการปกครอง
(๔) กรมการพัฒนาชุมชน
(๕) กรมที่ดิน
(๖) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๗) กรมโยธาธิการและผังเมือง
(๘) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

4.1.2.13กระทรวงยุติธรรม มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมเสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม
ส่วนการจัดรเบียบภายในกระทรวงยุติธรรมนั้น มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงยุติธรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมคุมประพฤติ
(๔) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
(๕) กรมบังคับคดี
(๖) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
(๗) กรมราชทัณฑ์
(๘) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(๙) สำนักงานกิจการยุติธรรม
(๑๐) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี
(๑๑) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

4.1.2.14 กระทรวงแรงงาน มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงแรงงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงแรงงาน

ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงแรงงานนั้น มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงแรงงาน มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการจัดหางาน
(๔) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
(๕) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
(๖) สำนักงานประกันสังคม

4.1.2.15 กระทรวงวัฒนธรรม มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงวัฒนธรรมนั้น มาตรา 37แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการศาสนา
(๔) กรมศิลปากร
(๕) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
(๖) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

4.1.2.16 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มาตรา 39แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมวิทยาศาสตร์บริการ
(๔) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

4.1.2.17 กระทรวงศึกษาธิการ มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนการจัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการนั้น มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 10 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
(๔) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(๕) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(๖) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

4.1.2.18 กระทรวงสาธารณสุข มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงสาธารณสุขนั้น มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมการแพทย์
(๔) กรมควบคุมโรค
(๕) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
(๖) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
(๗) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
(๘) กรมสุขภาพจิต
(๙) กรมอนามัย
(๑๐) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

4.1.2.19 กระทรวงอุตสาหกรรม มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนการจัดระเบียบราชการภายในกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มาตรา 45 มีแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมโรงงานอุตสาหกรรม
(๔) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
(๕) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
(๖) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
(๗) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(๘) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี
(๙) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

4.1.3 กรม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมไว้ว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแห่งส่วนราชการของกรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรม โดยในกรมหนึ่งมีอธิบดีหนึ่งคนเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมให้เกิดผลตามเป้าหมาย แนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะมีรองอธิบดีเพื่อช่วยอธิบดีปฏิบัติราชการได้
กรมอาจแบ่งส่วนราชการได้เป็น 2 ประเภทคือ สำนักงานเลขานุการกรมและกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเทากอง โดยสำนักงานเลขานุการกรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของกรมและราชการที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ มีเลขานุการกรม ส่วนกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองหรือส่วนราชการอื่นนอกเหนือจากนั้น ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ โดยให้มีผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองหรือหัวหน้าส่วนราชการอื่นนอกจากนั้น เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ

4.1.4 ส่วนราชการไม่มีสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้มี ส่วนราชการซึ่งไม่อยู่ในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง จำนวน 9 แห่งคือ
(๑) สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์
(๒) สำนักพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์
(๓) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนาและดูแลรักษาศาสนสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๔) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(๕) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๖) ราชบัณฑิตยสถาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ทางวิชาการและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๗) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๘) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(๙) สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ส่วนราชการทั้งหมดมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เว้นแต่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานอัยการสูงสุดที่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

4.1.5 การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน
โดยที่สภาพปัญหาของระบบราชการไทยที่ผ่านมาประการหนึ่งคือความล่าช้าในการปฏิบัติงานซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในภาคราชการว่าไม่โปร่งใส ประชาชนมีความไม่ไว้วางใจและเกิดความเบื่อหน่ยในการทำงานของภาคราชการ สาเหตุที่ทำให้การบริหารราชการมีความล่าช้านั้นเกิดจากหลายสาเหตุ และสาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งคือ งานภาคราชการมีขอบเขตกว้างขวาง และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต้องแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เพื่อมิให้ทุกเรื่องไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาเพียงผู้เดียว กล่าวคือถ้าเรื่องใดที่ต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาตำแหน่งใด ก็ต้องให้มีการมอบอำนาจการตัดสินใจในเรื่องต่างๆเหล่านั้นลงไปสู่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนั้นโดยตรง แต่โดยที่มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เคร่งครัดมาก กล่าวคือได้กำหนดตำแหน่งของบุคคลเจ้าของอำนาจที่จะเป็นผู้มอบอำนาจและตำแหน่งของบุคคลผู้รับมอบอำนาจไว้ตายตัว จึงทำให้การมอบอำนาจดังกล่าวไม่สามารถมอบอำนาจให้แก่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นโดยตรง ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการอนุมัติ หรือการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการบางอย่างซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของอิบดี กรณีเช่นนี้แม้ว่าจะเป็นอำนาจตามกฎหมายแต่ก็มิใช่อำนาจเฉพาะตัว แต่อธิบดีสามารถมอบอำนาจการออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่รองอธิบดี ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าได้ตามมาตรา 38 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เท่านั้น จากปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวข้างต้นทำให้การมอบอำนาจมีการกระจุกตัวและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ในปัจจุบันกระทรวงต่างๆ ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎอืนใดให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างมาตรการในการลดขั้นตอนในการขอรับบริการจากภาครัฐในการที่ประชาชนไม่ต้องลำบากและเสียเวลาในการติดต่อกับราชการ แต่ปรากฏว่ามีงานบริการหลายเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นกระบวนงานได้ที่ศูนย์บริการร่วม โดยจะต้องส่งกลับไปยังผู้มีอำนาจวินิจแยของแต่ละส่วนราชการเพื่อสั่งการ อนุมัติ หรืออนุญาตก่อน ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการแก่ประชาชน ฉะนั้น จึงควรที่จะให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติ การอนุญาต การออกคำสั่ง การปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นตามกฎหมาย หรือกฎอื่น สามารถมอบอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์บริการร่วมดังกล่าวได้ จากปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวข้างต้น จึงมีการแก้ไขในส่วนของหลักการในเรื่องการมอบอำนาจใหม่ โดยไม่จำกัดตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจทำให้สามารถมอบอำนาจลงไปได้ถึงระดับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง การกำหนดให้มีการมอบอำนาจต่อได้ รวมทั้งให้มีการมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้คล่องตัวมากขึ้น
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติแยกการมอบอำนาจออกเป็น 2 ลักษณะคือ การมอบอำนาจการปฏิบัติราชการทั่วไป และการมอบอำนาจการอนุญาตตามกฎหมายที่บัญญัติให้ออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ

4.1.5.1 การมอบอำนาจการปฏิบัติราชการทั่วไป บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ดังนี้
มาตรา 38 อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดให้มีการมอบอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดจนการมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมสัญญา ฟ้องคดีและดำเนินคดี หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการมอบอำนาจหรือที่ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติก็ได้

4.1.5.2 การมอบอำนาจการอนุญาตตามกฎหมายทีบัญญัติให้ออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ การมอบอำนาจการอนุญาตตามกฎหมายได้บัญญัติไว้มาตรา 38 วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 ดังต่อไปนี้
“ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับอำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายที่บัญญัติให้ต้องออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ ในกรณีเช่นนั้นให้ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวมีอำนาจมอบอำนาจให้ข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตามที่เห็นสมควร หรือตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดในกรณีมอบอำนาจได้ต่อไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้มอบอำนาจกำหนด
ในกรณีตามวรรคสาม เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดรายชื่อกฎหมายที่ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวอาจมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้”

4.1.5.3 วิธีการมอบอำนาจ มาตรา 38 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญัติให้การมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ

4.1.5.4 การมอบอำนาจช่วง มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติถึงการมอบอำนาจช่วงไว้ว่าเมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้น โดยผู้มอบอำนาจจะกำหนดให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไป โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการใช้อำนาจนั้นไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ในกรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคณะรัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมอบอำนาจต่อไปให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดก็ได้

4.1.6 การรักษาราชการแทน มาตรา 41 ถึงมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์การรักษาแทนในกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือกรณีมีตำแหน่งว่างลงและยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดเข้ามาดำรง....ไว้ สรุปได้ดังนี้คือ

(1) ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
(2) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่นก็ได้) เป็นผู้รักษาราชการแทน
(3) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองปลัดกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรองปลัดกระทรวงหลายคน ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า (เช่น ผู้ตรวจราชการระดับ 10 หรืออธิบดีกรมหนึ่งกรมใด) เป็นผู้รักษาราชการแทน
(4) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีรองอธิบดีหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองอธิบดีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี (เช่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) หรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
แต่ถ้านายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเห็นสมควรเพื่อความเหมาะสมแก่การรับผิดชอบการฏิบัติราชการในกรมนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่า ( ซึ่งอาจจะอยู่ที่กรมอื่น ) เป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
(5) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อธิบดีจะแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีหรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้รักษาราชการแทนได้
(6) ให้ผู้รักษาราชการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผึ่งตนแทน
(7) ในกรณีที่ผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งใดมอบอำนาจให้ผุ้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบอำนาจ
(8) ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในการรักษาราชการแทน


เชิงอรรถ
1. มาตรา 10 วรรค 2 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
2. มาตรา 20 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
3. มาตรา 21 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
4. มาตรา 22 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
5. มาตรา 23 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
6. มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กร พ.ศ. 2545
7. มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2537
8. มาตรา 33 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2537
9. มาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2537
10. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2550, สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, กุทชมภาพันธ์ 2551 หน้า 11-13

อ่านต่อ

ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่นศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น




ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย



ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น

ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี

ศาลแขวง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้



ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว

ศาลฎีกา เป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุด มีเขตอำนาจทั่วทั้งราชอาณาจักร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการฎีกา และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามกฎหมายเฉพาะ เช่น คดีแรงงาน คดีภาษีอากร คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีล้มละลายเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น และคดีที่กฎหมายอื่นบัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษา รวมทั้งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดหรือสั่งคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลฎีกาตามกฎหมาย (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓) คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สุด (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓)ศาลฎีกามีองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๗) แต่หากคดีใดมีปัญหาสำคัญ เมื่อประธานศาลฎีกาเห็นว่าควรให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ หรือเมื่อเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะว่าให้คดีเรื่องใดวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๐ วรรคสอง) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีการจัดประชุมใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน แต่หากคดีใดมีปัญหาสำคัญ ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีการจัดประชุมใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดศาลฎีกามีแผนกคดีพิเศษทั้งสิ้น 11 แผนก เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่อาศัยความชำนาญพิเศษ มีผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำแผนก ๆ ละ ประมาณ 10 คน โดยแผนกคดีพิเศษในศาลฎีกาประกอบด้วยแผนกคดีที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย 10 แผนก ได้แก่



แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

แผนกคดีแรงงาน

แผนกคดีภาษีอากร

แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

แผนกคดีล้มละลาย

แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ

แผนกคดีสิ่งแวดล้อม

แผนกคดีผู้บริโภค

แผนกคดีเลือกตั้ง

แผนกคดีที่ศาลฎีกาแบ่งเป็นการภายใน 1 แผนกคือ แผนกคดีปกครอง (ภายใน)

ประวัติศาลยุติธรรม
ปัจจุบันนี้ศาลและกระทรวงยุติธรรมได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ทางด้าน การพัฒนาบุคลากรและการขยายศาลยุติธรรมให้กว้างขวางครอบคลุมคดีความทุกด้านตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เพื่อประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมโดยเสมอหน้าและเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ และทุกท้องที่แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม การที่ศาลและกระทรวงยุติธรรมพัฒนาก้าวหน้ามาเช่นนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสถาบันยุติธรรมอย่างแน่นแฟ้นตลอดมาโดยทรงเป็นองค์ตุลาการตั้งแต่สมัยโบราณกาลมา แม้ปัจจุบันศาลก็ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ ในโอกาสที่กระทรวงยุติธรรมได้สถาปนามาครบ 100 ปี (พ.ศ. 2535) ได้มีการจัดงานที่ระลึกขึ้นและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนรอยไปสู่อดีต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายได้ทราบถึงความเป็นมาของศาลไทยและกระทรวงยุติธรรมตลอดจนความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับกระบวนการยุติธรรม ย้อนร้อยอดีตไป 700 ปี เริ่มที่

กรุงสุโขทัย
ในสมัยนี้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ดังคำพังเพยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประชาชนพลเมืองมีน้อย อยู่ในศีลในธรรมคดีความจึงมีไม่มาก พระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน พระมหากษัตริย์จึงทรงตัดสินคดีความด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มี หลักฐานจากศิลาจารึกว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงมอบให้ขุนนางตัดสินคดีแทนด้วย ในสมัยนี้พอมีหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง “ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม ไพร่ฟ้า ลูกเจ้า ลูกขุนผิแลผิแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้วจึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่อเข้าผู้ลักมักผู้ซ่อนเห็นข้าวท่านบ่อใคร่พิน เห็นสินท่านบ่อใคร่เดือด” จากศิลาจารึกนี้ทำให้ทราบว่า การร้องทุกข์ในสมัยนั้นร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไต่สวนพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง หรือให้ขุนนางเป็นผู้ไต่สวนให้ถ่องแท้และตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่ลำเอียงและไม่รับสินบน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญใน การพิจารณาคดีในสมัยนั้น สำหรับสถานที่พิจารณาคดีที่เรียกว่า ศาลยุติธรรมนั้นในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีศาล ตัดสินคดีเหมือนในสมัยนี้ แต่ก็มีหลักฐานจากหลักศิลาจารึกว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ ป่าตาลเป็นที่พิจารณาคดี ซึ่งพอเทียบเคียงได้ว่าเป็นศาลยุติธรรมในสมัยนั้น “1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้ 14 เท่า จึงให้ช่างฟันกระดาษเขียนตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนหก 8 วัน วันเดือนเต็มเดือนบั้ง ฝูงปู่ครูเถร มหาเถรขึ้นนั่งเหนือกระดานหินสวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงถ้วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือกระดาษหิน ให้ฝูงถ้วยลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงถ้วยถือบ้านถือเมือง ในกลางป่าตาลมีศาลา 2 อัน อันหนึ่งชื่อศาลพระมาส อันหนึ่งชื่อพุทธศาลา กระดานหินนี้ชื่อมนังคศิลาบาท” จากศิลาจารึกนี้พอเทียงเคียงได้ว่า ป่าตาลเป็นศาลยุติธรรม สมัยสุโขทัย และพระแท่นมนังคศิลาบาทเป็นเสมือนบัลลังก์ศาลในสมัยนั้น สำหรับกฎหมายที่ใช้ในสมัยสุโขทัยซึ่งปรากฎในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งนั้น มีลักษณะคล้ายกฎหมายในปัจจุบัน เช่น กฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน “หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” กฎหมายพาณิชย์ “ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงินค้า ค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส” นอกจากนั้นแล้วในหลักศิลาจารึกยังกล่าวถึงกฎหมายลักษณะโจรและการลงโทษ เช่น ขโมยข้าทาสของผู้อื่น “ผิผู้ใดหากละเมิน และไว้ข้าท่านพ้น 3 วัน คนผู้นั้นไซร้ท่านจะให้ไหมแลวันแลหมื่นพัน” นอกจากกฎหมายต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกฎหมายปัจจุบันแล้ว ยังใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียด้วย สำหรับการลงโทษในสมัยสุโขทัยตามหลักศิลาจารึก กฎหมายลักษณะโจรมีโทษเพียง ปรับเท่านั้น ไม่มีหลักฐานการลงโทษที่รุนแรงถึงตาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีไม่มากและเป็นผู้ที่เคร่งครัดอยู่ในศีลในธรรมตามหลักพุทธศาสนา ประชาชนจึงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บ้านเมืองก็เจริญขึ้นตามลำดับ ราษฎรก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้พระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้น จึงมิอาจทรงพระวินิจฉัยคดีความด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึงเช่นกาลก่อน จึงทรงมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยอรรถคดีของอาณาประชาราษฎร์ให้แก่ ราชครู ปุโรหิตา พฤฒาจารย์ ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์พราหมณ์ในราชสำนักและเสนาบดีต่าง ๆ เป็นผู้ว่าการยุติธรรมต่างพระเนตรพระกรรณ ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อาจใกล้ชิดกับราษฎรเหมือนสมัยสุโขทัย แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะดูเหมือนห่างไกลจากราษฎร แต่ว่าบทบาททางด้านการยุติธรรมนั้นกลับดูใกล้ชิดกับราษฎรอย่างยิ่ง โดยทรงเป็นที่พึงสุดท้ายของราษฎร ถ้าราษฎรเห็นว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีก็มีสิทธิที่จะถวายฎีกา เพื่อขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทานความเป็นธรรมแก่ตนได้ ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรง พระวิจารณญาณวินิจฉัยอรรถคดีใดด้วยพระองค์เอง พระบรมราชวินิจฉัยในคดีนั้นก็เป็นบรรทัดฐานที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมพึงถือปฏิบัติสืบต่อมา ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยุติธรรมแทนพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมี 3 กลุ่มได้แก่ ลูกขุน ณ ศาลหลวง ตระลาการ ผู้ปรับ การพิจารณาคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้กล่าวหาหรือผู้ที่จะร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ต่อจ่าศาลว่าจะฟ้องความอย่างไรบ้าง จ่าศาลจะจดถ้อยคำลงในหนังสือแล้วส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงพิจารณาว่า เป็นการฟ้องร้องตามกฎหมายควรรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าเห็นควรรับไว้พิจารณาจะพิจารณาต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของศาลกรมไหนแล้วส่งคำฟ้องและตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น เช่น ถ้าเป็นหน้าที่กรมนา จะส่งคำฟ้องและโจทก์ไปที่ศาลกรมนา ตระลาการศาลกรมนาก็จะออกหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การไต่สวนเสร็จแล้วส่งคำให้การไปปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวงว่ามีข้อใดต้องสืบพยานบ้าง เมื่อลูกขุนส่งกลับมาแล้ว ตระลาการก็จะทำการสืบพยานเสร็จแล้วก็ทำสำนวนให้โจทก์และจำเลยหยิกเล็บมือที่ดินประจำผูกสำนวน เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นสำนวนของโจทก์ จำเลย แล้วส่งสำนวนคดีไปให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง ลูกขุน ณ ศาลหลวงจะพิจารณาคดีแล้วชี้ว่าฝ่ายใดแพ้คดี เพราะเหตุใดแล้วส่งคำพิพากษาไปให้ผู้ปรับ ผู้ปรับจะพลิกกฎหมายและกำหนดว่าจะลงโทษอย่างไรตามมาตราใด เสร็จแล้วส่งคืนให้กรมนา ตระลาการกรมนาจะทำการปรับไหมหรือลงโทษตามคำพิพากษา หากคู่ความไม่พอใจตามคำพิพากษา ก็สามารถอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้น ๆ ถ้ายังไม่พอใจก็สามารถถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้อีก ศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมี 4 ศาลตามการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยเริ่มที่กรมวังก่อนแล้วจึงขยายไปยังที่กรมอื่น ๆ ในตองกลางกรุงศรีอยุธยามีการตั้งกรมต่าง ๆ ขึ้นจึงมีศาลมากมายกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกรมของตน ในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยามีการรวมรวบกรมต่าง ๆ ขึ้นเป็นกระทรวงจึงแบ่งศาลออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ศาลความอาญา ศาลความแพ่ง สองศาลนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง ชำระความคดีอาญาและคดีความแพ่งทั้งปวง ศาลนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ชำระความคดีโจรผู้ร้าย เสี้ยนหนามแผ่นดิน ทั่วไป ศาลการกระทรวง ขึ้นอยู่กับกระทรวงอื่น ๆ ชำระคดีที่อยู่ในหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ ส่วนสถานที่พิจารณาคดีหรือที่ทำการของศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากศาลหลวงที่ ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้ว ศาลอื่น ๆ ไม่มีที่ทำการโดยเฉพาะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ที่ทำการของศาลหรือที่พิจารณาคดีคงใช้บ้านของตระลาการของศาลแต่ละคนเป็นที่ทำการ สำหรับที่ตั้งของศาลหลวงนั้นมีหลักฐานตามหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 63ว่าด้วยตำนานกรุงเก่ากล่าวว่า ศาลาลูกขุนนอก คือศาลหลวงคงอยู่ภายในกำแพงชั้นนอกไม่สู้ห่างนัก คงจะอยู่มาทางใกล้กำแพงริมน้ำ เนื่องจากเมื่อขุดวังได้พบดินประจำผูกสำนวนมีตราเป็นรูปต่าง ๆ และบางก้อนก็มีรอยหยิกเล็บมือ ศาลหลวงคงถูกไฟไหม้เมือเสียกรุง ดินประจำผูกสำนวนจึงสุกเหมือนดินเผา มีสระน้ำอยู่ในศาลาลูกขุนใน สระน้ำนี้ในจดหมายเหตุซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การของขุนหลวงหาวัด ว่าเป็นที่สำหรับพิสูจน์คู่ความให้ดำน้ำในสระนั้น เพื่อพิสูจน์ว่ากล่าวจริงหรือกล่าวเท็จ

กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นหลักกฎหมายที่ลูกขุนฝ่ายในศาลหลวงจะต้องยึดถือปฏิบัติ และใช้ในการวินิจฉัยคดี มีบทกำหนดลักษณะของตุลาการ ข้อพึงปฏิบัติของตุลาการ คำสั่งสอนตุลาการ
พระราชศาสตร์ เป็นพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีของพระมหากษัตริย์ เช่น การวินิจฉัยคดีที่ราษฎรฎีกา เป็นต้น ซึ่งต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อมาจนกลายเป็นกฎหมาย
พระราชกฎหมาย กำหนดกฎหมายอื่น ๆ เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ทรงตราขึ้นตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละสมัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
การลงโทษผู้กระทำผิดในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรุนแรงมากถึงขั้นประหารชีวิต การประหารชีวิตโดยทั่วไป ใช้วิธีตัดศีรษะด้วยดาบ แต่ถ้าเป็นคดีกบฎประหารชีวิตด้วยวิธีที่ทารุณมาก การลงโทษหนักที่ไม่ถึงขั้นประหารชีวิตจะเป็นการลงโทษทางร่างกายให้เจ็บปวดทรมานโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เข็ดหลาบ

สมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชภารกิจในการสงคราม เพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่าและการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นบึกแผ่น ประกอบกับพระองค์ทรงครองราชย์เพียง 15 ปี จึงมิได้เปลี่ยนแปลงระบบการยุติธรรมคงใช้กฎหมายและระบบศาลของกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระมหากษัตริย์ไทยทรงแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งอีกครั้งว่าพระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยที่จะประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม ให้แก่อาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง เมื่อนายบุญศรีช่างเหล็กหลวงได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีโดยอำแดงป้อมผู้เป็นภรรยาได้นอกใจทำชู้กับนายราชาอรรถและมาฟ้องหย่านายบุญศรีไม่ยอมหย่าให้ แต่ลูกขุนตัดสินให้หย่าได้ นายบุญศรีเห็นว่าตัดสินไม่เป็นธรรมจึงร้องทุกข์ถวายฎีกา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสอบสวน พบว่าลูกขุนตัดสินต้องตรงความกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า “ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าให้หญิงหย่าชายได้” พระองค์ทรงพระราชดำริว่า หลังจากเสียกรุงแก่พม่าแล้ว มีการดัดแปลงแต่งเติมกฎหมายให้ฟั่นเฟือนวิปริต ขาดความยุติธรรม สมควรที่จะชำระสะสางใหม่เพื่อให้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรวจสอบกฎหมายต่าง ๆ ให้ตรงตามพระธรรมศาสตร์ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ และเพื่อป้องกันการดัดแปลงแก้ไขจึงทรงโปรดให้จัดทำเป็น 3 ฉบับมีข้อความตรงกันแยกเก็บไว้ที่ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง แห่งละ 1 ฉบับแต่ละฉบับประทับตราเป็นสัญลักษณ์ 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว เรียกว่า กฎหมายตราสามดวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระทัยใส่ในการพิจารณาคดีกับทรงห่วงใยในการดำเนินคดีต่ออาณาประชาราษฎร์ จึงทรงให้ขุนศาลตุลาการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว โดยการกำหนดขั้นตอนให้ปฏิบัติหากมีปัญหาให้นำความกราบบังคมทูล พระมหากรุณาห้ามกดความของราษฎรให้เนิ่นช้าเป็นอันขาดพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ทรงมีพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งต่องานศาล และกระทรวงยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไป ในด้านการพิจารณาคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรมนั้น หลักใหญ่ยังคงใช้วิธีเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา กฎหมายที่ใช้บังคับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เป็นกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่รวบรวมใหม่เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ซึ่งต่อมาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติใหม่เพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัยการบังคับใช้กฎหมายและระบบพิจารณาคดีแบบกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกไม่มีปัญหา แต่นานเข้ากรุงรัตนโกสินทร์มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปทำให้ระบบศาลในการพิจารณาคดีกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้บังคับมาแต่โบราณไม่เหมาะสม เนื่องจากการพิจารณาไต่สวนคดีล้าสมัย เช่น การทรมานให้รับสารภาพ และการลงโทษที่รุนแรงและทารุณต่าง ๆ ปัญหานี้เริ่มชัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อชาวต่างประเทศขอทำสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตไม่ยอมขึ้นศาลไทย เริ่มจากประเทศอังกฤษขอตั้งศาลกงสุลประเทศแรก เพื่อพิจารณาคดีคนในบังคับของอังกฤษตกเป็นจำเลย ต่อมาชาติอื่น ๆ ก็ขอตั้งศาลกงสุลของตนบ้าง เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส ทำให้คนไทยต้องเสียเอกราชทางศาลบางส่วนไปเมื่อมีกรณีพิพาทกับชาวต่างประเทศ มีผู้พิพากษาเป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำต้องปรับปรุงการศาลให้ทันสมัย โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายมารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน จัดตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2425 (ร.ศ. 101) โปรดเกล้าให้จารึกเรื่องที่ทรงพระราชดำริให้สร้างศาลหลวงนี้ไว้ในหิรัญบัตรบรรจุหีบไว้ในแท่งศิลาใหญ่ ซึ่งเป็นศิลาปฐมฤกษ์ เพื่อให้เป็นสิ่งสำคัญประจำศาลสืบไปภายหน้า ขอให้ธรรมเนียมยุติธรรมนี้จงเจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลสมดังพระบรมราชประสงค์โดยสุจริตศาลสถิตย์ยุติธรรมนี้เป็นที่ประชุมของลูกขุนตระลาการ ขุนศาลทุกกระทรวง และกำหนดให้ผู้พิพากษาทำหน้าที่พิจารณาคดี ีและศาลยุติธรรมอยู่ฝ่ายเดียวมิให้เกี่ยวกับราชการอื่น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นที่เก็บรักษากฎหมายต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ทุกประเภทให้อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อจะให้สอบสวนง่ายทำให้คดีเสร็จเร็วขึ้น

ต่อมา 1 ปีประเทศอังกฤษยอมผ่อนปรนเอกราชทางการศาลกับไทย โดยยอมให้ตั้งศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรก ศาลนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาไทย และกงสุลอังกฤษนั่งร่วมกันพิจารณาคดีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความกันเอง หรือคนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แต่อังกฤษก็ยังสงวนสิทธิที่จะถอนคดีไปให้ศาลกงสุลอังกฤษพิจารณาคดีเอง

ต่อมาปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันคือกระทรวงยุติธรรม โดยใช้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมเป็นที่ทำการ โดยเริ่มจากการรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ก่อนทำให้ศาลในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีถึง 16 ศาลเหลือเพียง 7 ศาล ครั้นรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปี พ.ศ. 2439 ได้รวบรวมศาลหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นศาลมณฑลสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยเริ่มจากตั้งศาลมณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัถยาในพระราชวังจันทร์เกษมเป็นที่ทำการ หลังจากนั้นได้ตั้งศาลมณฑลอื่น ๆ ตลอดราชอาณาจักร ศาลหัวเมืองในขณะนั้นมี 3 ประเภท คือ ศาลมณฑล ศาลเมือง และศาลแขวง เมื่อสถาปนากระทรวงยุติธรรมและจัดระเบียบการตั้งศาลหัวเมืองแล้ว ได้มีการปฏิรูปศาลให้ทันสมัยมากมาย เช่น ดำเนินการแยกอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการออกจากกัน โดยให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก ส่วนหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา ปรับปรุงระบบการพิจารณาคดี การสืบพยานให้รวดเร็วและทันสมัย เปลี่ยนโทษเฆี่ยนตีมาเป็นโทษจำขังแทน เลิกวิธีพิจารณาคดีโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ. 115 โดยยกเลิกวิธีทรมานต่าง ๆ ให้รับสารภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎหมายและระบบศาลต่าง ๆ อีกหลายประการ นับว่าการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมก่อให้เกิดการพัฒนาทางศาลอย่างมากมาย ภายหลังจากการตั้งกระทรวงยุติธรรม 1 ปีก็ยกเลิกศาลกรมกองตระเวน ตั้งใหม่เป็นศาลโปริสภา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดศาลแขวงต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ สำหรับพิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อยสำหรับประชาชน 4 จังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ คือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎหมายอิสลามบังคับในคดีครอบครับและมรดก สำหรับอิสลามศาสนิกที่มีภูมิลำเนาใน 4 จังหวัดดังกล่าว มีดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้พิพากษาร่วมด้วยซึ่งเป็นการขยายความยุติธรรมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นและยังถือเปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอิตาลี ยินยอมให้คนในบังคับของตนที่อยู่ในภาคเหนือขึ้นศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ทำนองเดียวกับ ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญายินยอมให้คนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชียขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เมื่อประเทศไทยใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เมื่อ พ.ศ. 2451 อันเป็นประมวลกฎหมายระบบสากลฉบับแรกของไทย หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยทำสนธิสัญญาคืนอำนาจศาลให้ไทยโดยให้คนในบังคับของตนขึ้นศาลไทย

ต่อมาปี พ.ศ. 2455 จึงมีการแยกอำนาจตุลาการออกจากกระทรวงยุติธรรมตามระเบียบจัดราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 ซึ่งกำหนดให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจบังคับบัญชาฝ่ายธุรการของกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียว ส่วนอธิบดีศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ การโยกย้าย และเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา และวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเป็นหลักที่ยึดถือจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนศาลเมืองเป็นศาลจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองกระทรวงมหาดไทยที่เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี

ในปี พ.ศ. 2457 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนจากเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ในปี พ.ศ. 2462 ส่วนประเทศพันธมิตรที่ร่วมชนะสงคราม ก็ได้รับรองเอกราชทางการศาลไทยด้วย ในช่วงนี้นับว่าไทยได้รับเอกราชทางการศาลเกือบสมบูรณ์ นอกจากนั้นประเทศสัมพันธมิตรก็ยังให้สนธิสัญญาว่า หากประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี และกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมครบถ้วนแล้วจะให้เอกราชทางการศาลไทยโดยสมบูรณ์ภายใน 5 ปี ในขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อยู่หนึ่งฉบับ และได้รีบเร่งร่างกฎหมายที่เหลืออีก 3 ฉบับ

พ.ศ. 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ปวงชนชาวไทย การดำเนินการในเรื่องเอกราชทางการศาลได้กระทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงได้ประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2477 ครบถ้วนเป็นฉบับสุดท้าย

พ.ศ. 2481 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประเทศต่าง ๆ จึงได้ยกเลิกสนธิสัญญาโดยให้เอกราชทางการศาลไทยจนหมดสิ้นซึ่งเร็วกว่ากำหนด 2 ปี พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนศาลมณฑลเป็นศาลจังหวัด และเรียกศาลในสังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรม แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น

ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลขึ้นอีกหลายศาล กล่าวคือ พ.ศ. 2495 จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก และต่อมาได้ขยายไปต่างจังหวัดด้วย

พ.ศ. 2523 จัดตั้งศาลแรงงานในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2525 จัดตั้งศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนย่านฝั่งธนบุรี

พ.ศ. 2529 จัดตั้งศาลภาษีอากรกลางในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2535 เปลี่ยนแปลงศาลคดีเด็กและเยาวชนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อขยายการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2535 เป็นวาระครบ 100 ปี กระทรวงยุติธรรม มีศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมดังนี้

ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของประเทศมีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา

ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลสูงชั้นกลางมี 4 ศาล ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีเขตอำนาจในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง และภาคตะวันออก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจในเขตพื้นที่ภาคตะวัตออกเฉียงเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคใต้

ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่รับฟ้องในเรื่องชั้นคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ประกอบด้วย ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลแขวงต่าง ๆ กับศาลชั้นต้นในจังหวัดอื่น ๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดทางด้านการยุติธรรมนับตั้งแต่จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ก็ได้สร้างความเจริญให้แก่ศาลและวงการตุลาการของไทยในการพัฒนาก้าวหน้าควบคู่กันมาโดยตลอดจนกระทั่งเป็นศาลที่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศในปัจจุบันนี้กระทรวงยุติธรรม ก็มีบทบาทในการสนับสนุนงานยุติธรรมของศาลด้านงบประมาณ งานด้านอาคารสถานที่ และงานธุรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เช่น จัดตั้งสำนักงานคุมประพฤติกลางและสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลต่าง ๆ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ทำให้ลดจำนวนคดีลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่งจึงขยายงานคุมประพฤติ ตั้งเป็นกรมคุมประพฤติ ใน พ.ศ. 2535 จัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เพื่อเผยแพร่การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องขึ้นศาลในด้านการพัฒนาที่ทำการของศาลนั้น กระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการจัดตั้งที่ทำการศาลเพิ่มเติมตลอดมา เพื่อให้เพียงพอต่อการพิจารณาคดีและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในโอกาสครบ 100 ปีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2535 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการเปิดอาคารที่ทำการใหม่ สำหรับศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลภาษีอากรกลาง จะเห็นได้ว่ากระทรวงยุติธรรมนั้นได้ปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรองรับงานยุติธรรมของศาลได้ ใน พ.ศ. 2534 แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน การบริหารงานราชการของกระทรวงยุติธรรมมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วและเป็นธรรม อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันกับศาลยุติธรรม ดังนั้นศาลและกระทรวงยุติธรรม จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นตลอดระยะเวลา 100 ปี

สถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่องานศาลและกระทรวงยุติธรรม คือ องค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นต้นกำเนิดของศาลยุติธรรมและมีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบศาลและงานยุติธรรม ดังที่ทราบกันมาแล้วแม้ในระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงให้ความสำคัญต่องานยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่าบูรพกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แม้จะมีพระชนม์น้อยแต่ทรงสนพระทัยในกิจการศาลเป็นอันมาก ทรงเสด็จเหยียบศาลหัวเมือง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดนครปฐม และครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา การเสด็จเหยียบศาลถึง 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จประทับบัลลังก์ร่วมกับพระอนุชา ในการพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้พิพากษา คดีที่ทรงเป็นประธานในการพิจารณาพิพากษาทั้ง 2 ครั้ง เป็นคดีลักทรัพย์ซึ่งจำเลยไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษตามพระบรมราชวินิจฉัย เป็นผลให้จำเลยทั้ง 2 คดีมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เป็นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศาลยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ดังกระแสพระราชดำรัสในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเหยียบกระทรวงยุติธรรม และศาลยุติธรรม นับตั้งแต่เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2495 “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้มีไมตรีจิตมาร่วมชุมนุมต้อนรับข้าพเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน การศาลยุติธรรมมีความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพราะเป็นหลักประกันความปลอดภัยและความเที่ยงธรรมของคนทั้งประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมสม่ำเสมอเป็นหลักอันคนทั้งปวงพึงยึดถือเป็นที่พึ่งได้เนืองนิจ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยเหลือส่งเสริมให้การประสาทความยุติธรรมเจริญรุ่งเรืองสมควรแก่กาลสมัย ข้าพเจ้ามีความพอใจในประวัติของกระทรวงยุติธรรมและชื่อเสียงของศาลยุติธรรมที่ได้เป็นมา และความสามัคคีกลมเกลียวเป็นสมานฉันท์ของบรรดาข้าราชการกระทรวงยุติธรรม” ศาลยุติธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศและด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ ทำให้ศาลในพระปรมาภิไธยมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้สามารถประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ยิ่งกว่านั้นในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วผู้ต้องคำพิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสสุดท้ายที่จะยื่นเรื่องราวต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษได้อีก องค์พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม และเป็นที่พึงสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริงสืบมาแต่โบราณกาล

รัฐบาลไทย (คณะรัฐมนตร๊)

รายชื่อคณะรัฐมนตรี รัฐบาลอภิสิทธิ์


นายกรัฐมนตรี : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

รองนายกรัฐมนตรี : นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี : นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายวีระชัย วีระเมธีกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง : กรณ์ จาติกวณิช

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง : นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์

รัฐมนตรี่ว่าการกระทรวงพาณิชย์ : นางพรทิวา นาคาสัย จากพรรคภูมิใจไทย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ : นายอลงกรณ์ พลบุตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม : พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา : นายชุมพล ศิลปอาชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ : นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ : นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย : นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย : นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์, นายถาวร เสนเนียม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน : นายไพฑูรย์ แก้วทอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน : นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร : นายธีระ วงศ์สมุทร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร : นายชาติชาย พุคยาภรณ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม : นายธีระ สลักเพชร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ : ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี จาก พรรคเพื่อแผ่นดิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ : นายวิฑูรย์ นามบุตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม : นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : นายโสภณ ซารัมย์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม : นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ : นายกษิต ภิรมย์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : นายสุวิทย์ คุณกิตติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม : นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข : นายวิทยา แก้วภราดัย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข : นายมานิต นพอมรบดี

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี : นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี : นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์



การสิ้นสุดของคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า นาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กระทำการที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา 267 และมาตรา 182 วรรค 1 (7) เนื่องจากการที่นายสมัครได้จัดรายการโทรทัศน์ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า ทำให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยตามมาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะรักษาการในตำแหน่งไปก่อน จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 181



นโยบายและผลงานเสนอนโยบายการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ โดยการสร้างใช้หัวเจาะกระสนกันน้ำซึมเข้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเจาะอุโมงค์แบบรถไฟใต้ดิน คาดว่าปริมาณแม่น้ำโขงจะไหลผ่านอุโมงค์นี้ และแจกจ่ายไปตามโครงข่ายลำน้ำอื่นๆ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคในภาคอีสาน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "ถ้าอีสานมีน้ำ อีสานหายจน"รื้อฟื้นนำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลทักษิณทำไว้กลับมาใช้อีกครั้ง



ความมั่นคงการประนีประนอมกับทหาร โดยสมัคร กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะออกพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว และจะไม่เข้าไปแทรกแซงจัดการเรื่องโผการโยกย้ายนายทหาร โดยจะปล่อยให้ทางทหารนั้นจัดการกันเอง ซึ่งทำให้ทางทหารแสดงท่าทีเป็นมิตรกับนายสมัครด้วยเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ความเป็นธรรม การพัฒนาการศึกษา พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน และการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่



เศรษฐกิจยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ลดราคาสินค้าหมูเนื้อแดงขายจาก 120 บาท ต่อ กก. เหลือเพียง 98 บาท ต่อ กก.



มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยคนจน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมโดยการทำเงินภาษีมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จนรัฐบาลที่นำโดย นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายเวลาเพิ่มในเวลาต่อมา



สิทธิมนุษยชนใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดเสนอให้มีเปิดการบ่อนกาสิโนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับทั้งความเห็นชอบและคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นอย่างมาก

คณะรัฐมนตรีไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 59 คณะ ดังนี้

1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
(ก้อน หุตะสิงห์) 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 165 วัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475
2 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 1 เมษายน พ.ศ. 2476 รัฐประหาร โดยพระราชกฤษฎีกา
3 1 เมษายน พ.ศ. 2476 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ลาออก และรัฐประหาร (นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา บังคับให้ลาออก)[1]
4 พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
(พจน์ พหลโยธิน) 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ลาออก (เลือกตั้งทั่วไป)
5 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 22 กันยายน พ.ศ. 2477 ลาออก (สภาไม่อนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยางของรัฐบาล)
6 22 กันยายน พ.ศ. 2477 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ลาออก (กระทู้เรื่องขายที่ดินพระคลังข้างที่)
7 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 สภาครบวาระ (เลือกตั้งทั่วไป)
8 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ยุบสภา[2] (เลือกตั้งทั่วไป)
9 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
(หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)) 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 ลาออก (เปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสม)
10 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ลาออก (สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด)
11 พันตรี ควง อภัยวงศ์
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ลาออก (สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง)
12 นายทวี บุณยเกตุ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 17 กันยายน พ.ศ. 2488 17 วัน ลาออก (เปิดโอกาสให้ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาแทน)
13 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช 17 กันยายน พ.ศ. 2488 31 มกราคม พ.ศ. 2489 ยุบสภา (เลือกตั้งทั่วไป)
14 พันตรี ควง อภัยวงศ์
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ 31 มกราคม พ.ศ. 2489 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 ลาออก (แพ้มติสภาที่เสนอพระราชบัญญัติที่รัฐบาลรับไม่ได้)
15 นายปรีดี พนมยงค์
(หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 (เลือกตั้งทั่วไป)
16 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ลาออก (ถูกใส่ความกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8)
17 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
(หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ลาออก (หลังจากการอภิปรายทั่วไป 7 วัน 7 คืน)
18 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐประหาร นำโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ
คณะทหารแห่งชาติ
นำโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 3 วัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ [3]
19 พันตรี ควง อภัยวงศ์
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ลาออก (เป็นรัฐบาลรักษาการเพื่อจัดเลือกตั้งทั่วไป)
20 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 8 เมษายน พ.ศ. 2491 ลาออก (คณะรัฐประหารบังคับให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง (รัฐประหารเงียบ))
21 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
(หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)) 8 เมษายน พ.ศ. 2491 25 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 (เลือกตั้งทั่วไป)
22 25 มิถุนายน พ.ศ. 2492 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 คณะบริหารประเทศชั่วคราวประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 อีกครั้งหนึ่งไปพลางก่อน (รัฐประหารตนเอง)
23 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 6 ธันวาคม พ.ศ. 2494 มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ขึ้นใหม่
24 6 ธันวาคม พ.ศ. 2494 24 มีนาคม พ.ศ. 2495 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 (เลือกตั้งทั่วไป)
25 24 มีนาคม พ.ศ. 2495 21 มีนาคม พ.ศ. 2500 สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ (เลือกตั้งทั่วไป)
26 21 มีนาคม พ.ศ. 2500 16 กันยายน พ.ศ. 2500 รัฐประหาร นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
คณะทหาร
นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในฐานะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร[4] 16 กันยายน พ.ศ. 2500 21 กันยายน พ.ศ. 2500 5 วัน แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ [5]
27 นายพจน์ สารสิน 21 กันยายน พ.ศ. 2500 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ลาออก (เลือกตั้งทั่วไป)
28 จอมพล ถนอม กิตติขจร 1 มกราคม พ.ศ. 2501 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ลาออกและรัฐประหาร นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
คณะปฏิวัติ
นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ [6]
29 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 นายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรม
30 จอมพลถนอม กิตติขจร 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 7 มีนาคม พ.ศ. 2512 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 (เลือกตั้งทั่วไป)
31 7 มีนาคม พ.ศ. 2512 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 รัฐประหาร โดยจอมพล ถนอม กิตติขจร (รัฐประหารตนเอง)
คณะปฏิวัติ
นำโดยจอมพล ถนอม กิตติขจร 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 17 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี [7]
32 จอมพล ถนอม กิตติขจร 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ลาออก (เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา)
33 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ลาออก (อ้างเหตุร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ)
34 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 (เลือกตั้งทั่วไป)
35 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 14 มีนาคม พ.ศ. 2518 ไม่ได้รับความไว้วางใจ จากส.ส. ในการแถลงนโยบาย
36 พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช 14 มีนาคม พ.ศ. 2518 20 เมษายน พ.ศ. 2519 ยุบสภา[8] (เลือกตั้งทั่วไป)
37 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช 20 เมษายน พ.ศ. 2519 25 กันยายน พ.ศ. 2519 ลาออก (วิกฤตการณ์จอมพล ถนอม กลับประเทศเพื่ออุปสมบท)
38 25 กันยายน พ.ศ. 2519 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 11 วัน รัฐประหาร โดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 2 วัน แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 เป็นผลให้คณะปฏิรูปฯ แปรสภาพเป็น สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
39 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 รัฐประหาร โดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่
คณะปฏิวัติ
นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 1 เดือน ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
40 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 (เลือกตั้งทั่วไป)
41 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 ลาออก (วิกฤตการณ์น้ำมันและผู้ลี้ภัย)
42 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 30 เมษายน พ.ศ. 2526 ยุบสภา[9] (เลือกตั้งทั่วไป)
43 30 เมษายน พ.ศ. 2526 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ยุบสภา[10] (เลือกตั้งทั่วไป)
44 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ยุบสภา[11] (เลือกตั้งทั่วไป)
45 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ลาออก แล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่
46 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 รัฐประหาร นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 5 วัน ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
47 นายอานันท์ ปันยารชุน 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 7 เมษายน พ.ศ. 2535 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 (เลือกตั้งทั่วไป)
48 พลเอก สุจินดา คราประยูร 7 เมษายน พ.ศ. 2535 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ลาออก (เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ)
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535
49 นายอานันท์ ปันยารชุน 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ยุบสภา[12] (เลือกตั้งทั่วไป)
50 นายชวน หลีกภัย 23 กันยายน พ.ศ. 2535 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ยุบสภา[13] (เลือกตั้งทั่วไป)
51 นายบรรหาร ศิลปอาชา 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ยุบสภา[14] (เลือกตั้งทั่วไป)
52 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ลาออก (วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ)
53 นายชวน หลีกภัย 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ยุบสภา[15] (เลือกตั้งทั่วไป)
54 พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 1461 วัน สภาฯ ครบวาระ 4 ปี
55 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 แต่ต่อมาถูกศาลพิพากษาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต่อมาเกิด รัฐประหาร โดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ระหว่างที่ ครม.รักษาการเพื่อรอการเลือกตั้งครั้งใหม่
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ (คปค.)
นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน 19 กันยายน พ.ศ. 2549 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 12 วัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
56 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 29 มกราคม พ.ศ. 2551 486 วัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (เลือกตั้งทั่วไป)
57 นายสมัคร สุนทรเวช 29 มกราคม พ.ศ. 2551 9 กันยายน พ.ศ. 2551 223 วัน ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[16]
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 18 กันยายน พ.ศ. 2551 9 วัน
58 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 75 วัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน
และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 15 วัน
59 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รัฐสภาไทย

รัฐสภาไทย

รัฐสภา หรือ สภานิติบัญญัติ หมายถึง สภาที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย อภิปราย หารือกันระหว่างสมาชิกรัฐสภา ถกเถียงประเด็นทางการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ โดยรัฐสภาจะมีเฉพาะประเทศที่ใช้ใช้ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่มีระบบรัฐสภาและเป็นต้นแบบระบอบประชาธิปไตยในสมัยปัจจุบันด้วย เช่น ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น

ระบบรัฐสภา เป็นกลไกการปกครอง ที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีที่มาจากรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ และมีความรับผิดชอบต่อสภา ในระบบรัฐสภา ตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ และตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลมักจะแยกออกจากกัน โดยหัวหน้ารัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ประมุขแห่งรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ตามการสืบสันตติวงศ์ หรือประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภาสมัยใหม่มีต้นกำเนิดในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17

บทบาท
มาตรา ๘๘ รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
บุคคลจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา ๘๙ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน
ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ
ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
รองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
มาตรา ๙๐ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำ แนะนำ และยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
มาตรา ๙๑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) หรือ (๑๑) หรือมาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
มาตรา ๙๒ การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิกรวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือสรรหามาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว

หน้าที่
ด้านนิติบัญญัติ
1. การเสนอร่างกฎหมาย
1.1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา 139)
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(3) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
1.2 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ (มาตรา 142)
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน
(3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ
(4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า10,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163 (เฉพาะหมวด 3 และหมวด 5)
2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเสนอ (มาตรา 163 วรรคสี่)
2.1 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติ
2.2 คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จองจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด
3. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย (หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ มาตรา 166 - 170)
4. การพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด
กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขงพระราชกำหนดอย่างเคร่งครัด (มาตรา 185)
5. การให้ความเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจาก (มาตรา 291 (1))
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
(3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ประการสำคัญ การพิจารณาในวาระที่สอง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

โครงสร้างของรัฐสภา
1. รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (มาตรา 88)
รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
บุคคลจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
2. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา (มาตรา 89)
ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน
ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ
ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
รองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
3. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป (มาตรา 90)
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) หรือ (๑๑) หรือมาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ (มาตรา 91)
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
5. การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิกรวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือสรรหามาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว (มาตรา 92)

ประธานรัฐสภา

ชื่อ-สกุล นายชัย ชิดชอบ
วันเดือนปีเกิด ๕ เมษายน ๒๔๗๑
การศึกษา • ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราคำแหง
• ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
• ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
• ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์
สถานที่ติดต่อ บ้านเลขที่ ๓๐/๑ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง
จังหวัดบุรีรัมย์ รหัสไปรษณีย์ ๓๑๐๐๐
โทรศัพท์ : ๐ ๔๔๖๑ ๔๔๓๑
โทรสาร : ๐ ๔๔๖๑ ๔๔๓๑
อีเมล์ : -
อาชีพก่อนได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ นักการเมือง
ประสบการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์
พ.ศ.๒๕๑๒,๒๕๒๒,๒๕๒๖,๒๕๒๙,๒๕๓๕,๒๕๓๘,๒๕๓๙
• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พ.ศ.๒๕๔๘
• สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ.๒๕๔๙
• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ.๒๕๕๑
• ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
• มหาวชิรมงกุฎ
ประธานรัฐสภาไทยอดีต-ปัจจุบัน

๒๘. นายชัย ชิดชอบ
ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฏร ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑


๒๗.นายยงยุทธ ติยะไพรัช
ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฏร ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑ - เมษายน ๒๕๕๑


๒๖.นายโภคิน พลกุล
ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฏร ๘ มีนาคม ๒๕๔๘ - ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙


๒๕.นายพิชัย รัตตกุล
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ - ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓


๒๔.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ - ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๓


๒๓.นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๓๘ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๘


๒๒.ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ๒๒ กันยายน ๒๕๓๕ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘


๒๑.นายมีชัย ฤชุพันธ์
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๕ - ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๕ ประธานวุฒิสภา ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๕ - ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๙ ๖ เมษายน ๒๕๓๙ - ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๓


๒๐.ร้อยตำรวจตรี วรรณ ชันซื่อ
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔


๑๙.ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ๓๐ เมษายน ๒๕๒๗ - ๓๐ เมษายน ๒๕๒๘ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๘ - ๒๓ เมษายน ๒๕๓๐ ๒๔ เมษายน ๒๕๓๐ - ๒๒ เมษายน ๒๕๓๒ ๓ เมษายน ๒๓๓๕ - ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๒ เมษายน ๒๕๓๔ - ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๕


๑๘.นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ๒๖ เมษายน ๒๕๒๖ - ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๗


๑๗.พลอากาศเอก หะริน หุงสกุล
ประธานรัฐสภา และประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ - ๒๒ เมษายน ๒๕๒๒ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๒ - ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖


๑๖.พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ
ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประธานรัฐสภา ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๙


๑๕.นายอุทัย พิมพ์ใจชน
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร ๑๙ เมษายน ๒๕๑๙ - ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ - ๕ มกราคม ๒๕๔๘


๑๔.นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ -๑๒ มกราคม ๒๕๑๙


๑๓.นายประภาศน์ อวยชัย
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ - ๒๕ มกราคม ๒๕๑๘


๑๒.พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๖ -๗ ตุลาคม ๒๕๑๗


๑๑.พลตรีศิริ สิริโยธิน
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ๑๘ ธันวามคม ๒๕๑๕ - ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๖


๑๐.พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์)
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ๒๒ กรกฏาคม ๒๕๑๑ - ๖ กรกฏาคม ๒๕๑๔ ๗ กรกฏาคม ๒๕๑๔ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔


๙. นายทวี บุญยเกตู
ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๘ พฤษภาคม๒๕๑๑ -๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑


กฎหมายและระเบียบ
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล และสงเคราะห์ครอบครัว กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๖


พระราชกฤษฎีกา กำหนดการแต่งกายของผู้ที่มีตำแหน่งเฝ้าแต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้เครื่องแบบราชการ พ.ศ. ๒๔๙๙


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับปรุงราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๑


ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่ง ช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไท


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖


พระราชบัญญัติ เหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิพาลา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗


พระราชบัญญัติ เหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิพาลา (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๔๘๕


พระราชบัญญัติ เหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิพาลา พ.ศ. ๒๔๘๔


พระราชบัญญัติ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๔๘๔


พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก พ.ศ. ๒๔๘๔


กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒


ข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒


ข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๙


ข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๒๖


ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล และสงเคราะห์ครอบครัว กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕


ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล และสงเคราะห์ครอบครัว กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๕๔๔


ระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๖


ระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓


พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒


พระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๖


พระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๖

ประวัติการ กบฏ ปฏิวัติ และการรัฐประหารในประเทศไทย

ประวัติการ กบฎ ปฏิวัติ และการรัฐประหารในประเทศไทย

‘กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร’ โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า ‘ปฏิวัติ’ แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า ‘กบฏ’ จาก พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติ และเป็น กบฏ มีดังนี้
พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล
2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 – 2534)

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

” คณะราษฎร ” ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเอง ในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ

กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478

ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491

คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี